การสอบเอ็นทรานซ์ การกวดวิชา และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
(Entrance Examination, Private Tutoring, and Economic Growth)
ศิวพงศ์ ธีรอำพน
ในมุมมองของนักเรียนหรือบุคคลทั่วไป การได้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องผ่านกระบวนการสอบวัดความรู้ฯ หรือการสอบเอ็นทรานซ์ ถือเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จในชีวิตขั้นหนึ่ง อีกทั้งความเชื่อมั่นว่าภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว จะนำมาซึ่งหน้าที่การงานและผลตอบแทนที่ดีกว่า
แรงจูงใจทางเศรษฐกิจนี้ยังผลักดันให้ทุกคนมีความพยายามสะสมความรู้ความสามารถ เพื่อให้ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้ได้ หนทางหนึ่งที่นักเรียนส่วนใหญ่เลือกปฏิบัติเพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบเข้า คือการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนปกติในชั้นเรียน โดยเหตุผลที่ผู้เรียนกวดวิชาให้ไว้กับสวนดุสิตโพล (2547) คือ เพื่อเพิ่มเติมความรู้นอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียน เป็นการช่วยทบทวนความรู้ ช่วยสรุปเนื้อหาให้เข้าใจมากขึ้นจากที่เรียนในชั้นเรียน สร้างความมั่นใจในการสอบเพื่อเพิ่มคะแนนในโรงเรียน และ ได้เทคนิควิธีการคิด การช่วยจำหลายแบบที่ช่วยในการทำข้อสอบ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่ปรากฏในงานของ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (2545) เรื่องการกวดวิชาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทยว่า การกวดวิชาช่วยให้การเรียนดีขึ้น ช่วยในการสอบเข้าศึกษาต่อ ด้วยการแก้ไขข้อบกพร่องหรือเพิ่มเติมเนื้อหา อีกทั้งเพื่อเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการเรียนในชั้นเรียน
ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าว ทำให้นักเรียนจำนวนมากเลือกที่จะเรียนกวดวิชา ซึ่งจำนวนผู้สมัครสอบวัดความรู้ฯ ที่เรียนกวดวิชาได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังเห็นได้จากรูปที่ 1 อันแสดงถึงจำนวนและร้อยละของจำนวนผู้สมัครสอบวัดความรู้ฯที่เรียนกวดวิชาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดช่วงเวลาการสำรวจ โดยจำนวนผู้สมัครสอบที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2 หมื่นคนหรือประมาณร้อยละ 25 ในช่วง พ.ศ. 2517 เป็นประมาณ 3 หมื่นคนหรือประมาณร้อยละ 35 ในสิบปีต่อมา นอกจากนั้นจำนวนโรงเรียนกวดวิชาก็ได้มีการขยายจำนวนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเช่นกันตารางที่ 1 แสดงจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาในสถาบันหรือโรงเรียนกวดวิชา และจำนวนโรงเรียนกวดวิชา เปรียบเทียบตัวเลขระหว่างปี พ.ศ. 2547 และปี พ.ศ. 2528 จำนวนโรงเรียนกวดวิชาทั้งหมดเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจาก 171 แห่งเป็น 728 แห่ง จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาในโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้นจาก 31,748 คนในปี พ.ศ. 2528 เป็น 147,093 คนในปี พ.ศ. 2542 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัวในช่วงเพียงสิบกว่าปี ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการกวดวิชา
ตารางที่ 1 จำนวนโรงเรียนกวดวิชา และจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาในโรงเรียนกวดวิชา ในเขตกรุงเทพฯ และรวมทั้งประเทศ
ปี |
|
จำนวนโรงเรียน |
จำนวนนักเรียน |
2528 |
กรุงเทพฯ |
131 |
28,562 |
|
รวม |
171 |
31,748 |
2542 |
กรุงเทพฯ |
246 |
88,963 |
|
รวม |
572 |
147,093 |
2543 |
กรุงเทพฯ |
298 |
- |
|
รวม |
604 |
- |
2547 |
กรุงเทพฯ |
298 |
- |
|
รวม |
728 |
- |
ที่มา: สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ |
Bray (1999) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกวดวิชาในประเทศต่างๆ ไว้ โดยประเทศที่มีการกวดวิชาสูงมากได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเรียนกวดวิชาสูงถึงร้อยละ 70 ของนักเรียนทั้งหมด ส่วนตัวเลขในประเทศเกาหลีใต้ก็สูงถึงร้อยละ 59 ด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกวดวิชาพบว่าในญี่ปุ่นมีการใช้จ่ายสูงถึงประมาณ 14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ส่วนในเกาหลีใต้ตัวเลขก็สูงถึงประมาณ 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1.5 เท่าของการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาโดยรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก สำหรับกรณีประเทศไทย ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ( 2545) พบว่าแต่ละปีมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกวดวิชาประมาณ 3.3 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 30 ของนักเรียนทั้งหมด มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจกวดวิชาประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อภาคเรียน ซึ่งเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง จะคิดได้เป็นประมาณ 3,200 ล้านบาทต่อปี
เห็นได้ว่าประเทศที่มีการกวดวิชาสูงล้วนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา และเนื่องจากการเรียนกวดวิชามีขนาดค่อนข้างใหญ่ในระบบเศรษฐกิจดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงเกิดเป็นคำถามว่า การกวดวิชานั้นมีความสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่ โดย Bray (1999) กล่าวไว้ว่าการกวดวิชานั้นมีส่วนสำคัญในความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น และ Russel (1997) พบว่าการกวดวิชาส่งผลต่อความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่นด้วยการเพิ่มความสามารถของนักเรียนให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าความรู้ความสามารถที่มากขึ้นนั้นย่อมส่งผลให้สามารถผลิตองค์ความรู้ใหม่ได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น และยังผลให้เศรษฐกิจนั้นเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากแบบจำลองความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีประเด็นการกวดวิชาเป็นองค์ประกอบที่ได้พัฒนาขึ้นพบว่า นโยบายขยายจำนวนสถาบันการศึกษาของภาครัฐอาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุปทานแรงงานของประเทศและประสิทธิภาพในระบบการผลิตของประเทศ กล่าวคือการทะลักของนักเรียนที่เข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยมากเกินไป เนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มีผลทางอ้อมต่อการลดเกณฑ์ความสามารถขั้นต่ำสำหรับการเข้าศึกษาต่อในแบบจำลอง ทำให้นักเรียนที่เดิมไม่มีความสามารถในการเรียนสูงพอตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตและอาชีพใหม่ เดิมเมื่อเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษายังสูง ผู้ที่มีความสามารถเริ่มต้นต่ำ เลือกที่จะไม่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากไม่คุ้มค่าสำหรับตนเองเมื่อคำนวณในเชิงอรรถประโยชน์ตลอดชีวิต ต่อมาเมื่อมีการผ่อนคลายลง ทำให้บุคคลนั้นเปลี่ยนการตัดสินใจ และเลือกที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากช่องว่างระหว่างความสามารถเริ่มต้นของเขากับเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการเข้าศึกษาต่อลดลง พวกเขากลายเป็นบัณฑิตได้รับปริญญาบัตรและสะท้อนในตัวเลขทางสถิติที่ชี้ว่าขนาดของทุนมนุษย์ในประเทศมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งตัวเลขทางสถิติอาจไม่สะท้อนถึงระดับของทุนมนุษย์ที่แท้จริงได้ เนื่องจากดัชนีชี้วัดระดับของทุนมนุษย์ของแต่ละประเทศ มักใช้เฉพาะตัวเลขสมัครเรียนของนักเรียนที่อยู่ในระดับอุดมศึกษา โดยพิจารณาเฉพาะปริมาณ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นบุคคลเหล่านี้อาจไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้ดังที่หวังไว้ การขยายขนาดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในลักษณะนี้จึงเป็นเพียงการสร้างปริมาณเป็นส่วนใหญ่ ที่มีผลข้างเคียงคือคุณภาพโดยเฉลี่ยของกลุ่มบัณฑิตลดลง จากแบบจำลองเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ให้อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดเทียบเท่ากับเกรดเฉลี่ยสะสมที่ 3.2 จาก 4.0 และคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษโทเฟล (TOEFL) ที่ 587 กล่าวโดยสรุปได้ว่าการขยายการศึกษาที่เน้นทางด้านปริมาณอาจไม่นำมาสู่อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเสมอไป |