การปฏิรูปภาษีน้ำประปาจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ในประเทศไทยได้อย่างไร ?
(How Can the Water Supply Tax Reform Solve the Water shortage in Thailand ?)
เทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ
น้ำสำคัญแค่ไหน ?
........คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าน้ำเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางและการขนส่งทางน้ำ , การชำระล้าง , การทำเกษตรกรรม , และอื่นๆอีกมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำดื่มยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตรอดของมนุษย์ จากผลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ระบุว่าร่างกายของมนุษย์เรามีน้ำเป็นส่วนประกอบถึงประมาณร้อยละ 70 มนุษย์เรานั้นอาจขาดน้ำมันสัก 3 เดือน ขาดไฟฟ้าสัก 3 ปีได้แต่ไม่สามารถขาดน้ำดื่มได้เกิน 3 วัน ดังนั้นถ้าหากวันหนึ่งน้ำประปาที่บ้านของเราหยุดไหลทำให้น้ำไม่พอใช้และไม่พอแม้กระทั้งจะใช้ดื่มเราจะเดือดร้อนมากขนาดไหน นับเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่เราอยู่บนประเทศไทยที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นดินแดนที่ " ในน้ำมีปลาในนามีข้าว " แต่ทว่าล่วงมาจนถึงยุคปัจจุบัน จากการที่เราซึ่งเป็นผู้บริโภคเกิดความเคยชินในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างฟุ่มเฟือยและมิได้เห็นคุณค่าแหล่งน้ำธรรมชาติอันทรงคุณค่ายิ่งของประเทศไทย มีการทำลายต้นน้ำลำธาร โดยการตัดไม้ทำลายป่าและปล่อยมลพิษลงไปในแหล่งน้ำทำให้แหล่งน้ำเกิดการเน่าเสีย ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนทรัพยากรน้ำในประเทศไทยมีมาต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูแล้งปี พ.ศ. 2535 บนเกาะภูเก็ตเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำทำให้ราคาน้ำประปาจากผู้ขายเอกชนเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่าจากปกติราคา ลบ.ม.ละ 6 - 7 บาท เป็น ลบ.ม.ละ40 บาท ตัวอย่างอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2544 เกิดภาวะภัยแล้งในพื้นที่ 53 จังหวัด รวม 24,020 หมู่บ้าน มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายประมาณ 1,080,295 ไร่ และล่าสุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 ที่ผ่านมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้สาเหตุมาจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่ำกว่าระดับปกติต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังมีโครงการเร่งสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีกหลายเขื่อนซึ่งเขื่อนเหล่านั้นกักเก็บน้ำในแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน ดังเช่นกรณีตัวอย่างของปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นผนวกกับแนวโน้มจำนวนประชากรและกิจกรรมการใช้น้ำภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกๆปีสะท้อนให้เห็นว่าประเด็น ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ มีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นปัญหาที่รุนแรงระดับประเทศในอนาคตหากยังมิได้มีการปรับปรุงแก้ไขหรือใช้นโยบายอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเข้ามารองรับปัญหาล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที
เราสามารถจะป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในประเทศไทยได้อย่างไร ?
........แนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมีแนวทางหลักอยู่ 2 แนวทางด้วยกัน แนวทางที่หนึ่งคือการเพิ่มอุปทานน้ำ อาทิเช่น การสร้างเขื่อนและแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น , การลดการสูญเสียน้ำในกระบวนการผลิตและลำเลียงน้ำ , การเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น แนวทางที่สองคือการลดอุปสงค์การใช้น้ำ อาทิเช่น การปลูกฝังจิตสำนึกในการเห็นคุณค่าและช่วยกันประหยัดน้ำและการใช้กลไกราคา เป็นต้น ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยภาครัฐได้แก้ปัญหาโดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มอุปทานน้ำโดยพยายามสร้างเขื่อนและแหล่งกักเก็บน้ำจำนวนมากในตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเริ่มมาถึงขีดจำกัดทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและส่งผลกระทบข้างเคียงมากมายไม่ว่าจะเป็นในด้านประเด็นสิ่งแวดล้อม , การรุกล้ำที่ทำกินของประชาชนและปัญหาอื่นๆ รวมไปถึงยังใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างที่ยาวนานและต้นทุนมหาศาล ในอีกด้านหนึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีนโยบายการแก้ไขปัญหาในเชิงอุปสงค์อย่างชัดเจนและมีประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม การรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรนักในทางปฏิบัติและไม่มีดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน การตั้งราคาน้ำประปาในอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเพียงการพิจารณาจากปัจจัยทางด้านต้นทุนการผลิตเป็นส่วนใหญ่ยังมิได้มีเป้าหมายเพื่อควบคุมหรือจำกัดระดับอุปสงค์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในด้านภาษีน้ำประปาของประเทศไทยได้จัดเก็บในรูปแบบของภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเดียวกันกับสินค้าทั่วๆไป ซึ่งไม่ได้ถูกแยกออกมาพิจารณาและมีนโยบายทางภาษีใดๆเป็นกรณีพิเศษเพื่อลดหรือควบคุมพฤติกรรมการใช้น้ำประปา ดังที่กล่าวมาภาครัฐจึงควรหันมาให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้โดยแนวทางการลดอุปสงค์มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะสามารถลดอุปสงค์การใช้น้ำประปาได้โดยการขึ้นราคาหรือภาษีน้ำประปาก็ตามแต่ถ้าหากมุ่งเน้นที่การปรับขึ้นราคาหรือภาษีน้ำประปาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นโดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างในความสามารถในการซื้อของแต่ละครัวเรือนแล้วนั้น สิ่งที่อาจจะตามมาก็คือปัญหาความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพและการดำเนินกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ทุกคนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือหากทุกคนเผชิญราคาน้ำประปาในอัตราที่สูงอัตราเดียวกันคนจนหรือคนที่มีความสามารถในการซื้อต่ำจะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำประปาได้ ดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับน้ำจึงควรได้รับการออกแบบและปฏิบัติที่แตกต่างไปจากสินค้าทั่วๆไป
........จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง " ผลกระทบของนโยบายการตั้งราคาและภาษีต่ออุปสงค์น้ำประปาของครัวเรือนและปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในประเทศไทย " ของ เทอดศักดิ์ (2548) ซึ่งได้ทำการประมาณค่าอุปสงค์และค่าความยืดหยุ่นของสินค้า 3 ประเภท คือ ประเภทน้ำประปา , ประเภทอาหาร , และประเภทไม่ใช่อาหาร ของแต่ละกลุ่มครัวเรือนในประเทศไทยที่มีความแตกต่างกันในความสามารถในการซื้อและศึกษาผลกระทบของการปฏิรูปนโยบายการตั้งราคาและภาษีน้ำประปาแบบต่างๆ ต่ออุปสงค์น้ำประปาและความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำประปาในแต่ละครัวเรือน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในประเทศไทยในอนาคตรวม โดยข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากชุดข้อมูลการใช้จ่ายของครัวเรือนจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี พ . ศ . 2545 , ชุดข้อมูลราคาสินค้าและน้ำหนักค่าใช้จ่ายจากกรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ , และชุดข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตและบริโภคน้ำประปาจากการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ในการศึกษา และได้ทำการแบ่งข้อมูลตัวอย่างครัวเรือนทั่วประเทศ 34,785 ครัวเรือนออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะยากจน , กลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะใกล้จน , กลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะปานกลาง , และกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวย ตามลำดับ โดยใช้แบบจำลองสมการระบบอุปสงค์แบบระบบการใช้จ่ายเชิงเส้น (LES) และดัชนีราคาสัมพัทธ์ (Relative Price Indices) ช่วยในการประมาณค่าราคาตัวแทนของกลุ่มสินค้าในแต่ละกลุ่มอีกด้วยเป็นเครื่องมือในการประมาณค่าอุปสงค์น้ำประปาของครัวเรือนและใช้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการพยากรณ์แนวโน้มของอุปสงค์น้ำประปาของประเทศไทยในอนาคตและทดสอบผลกระทบจากการปฏิรูประบบการตั้งราคาและภาษีน้ำประปาแบบต่างๆ โดยเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้กับระบบการตั้งราคาและภาษีที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน

........จากผลการประมาณค่าพบว่าค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาตัวเองของน้ำประปาในภาพรวมทั้งประเทศมีค่าอยู่ที่ประมาณ - 0.18 และสำหรับกลุ่มสินค้าอาหารและกลุ่มสินค้าไม่ใช่อาหารมีค่าอยู่ที่ประมาณ - 0.25 และ - 0.95 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในกรณีแยกกลุ่มครัวเรือนพบว่าค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาตัวเองของน้ำประปามีค่าอยู่ที่ประมาณ - 0.5885, - 0.3009, - 0.1818, และ - 0.0636 สำหรับกลุ่มครัวเรือนฐานะยากจน , ฐานะใกล้จน , ฐานะปานกลาง , และฐานะร่ำรวย ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยนั่นคือค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์น้ำประปาต่อราคาของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมีค่ามากกว่าค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์น้ำประปาต่อราคาของครัวเรือนที่มีรายได้สูง ซึ่งหมายถึงว่าเมื่อภาครัฐขึ้นราคาน้ำประปาจะมีผลกระทบต่อการลดปริมาณอุปสงค์ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงดังนั้นการที่ภาครัฐใช้นโยบายการขึ้นราคาหรือภาษีในอัตราที่เท่ากันทุกครัวเรือนจะนำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำประปา ในด้านของค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาของกลุ่มสินค้าอาหารในแต่ละกลุ่มครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงตามลำดับเหมือนกับแนวโน้มของค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาของน้ำประปาแต่สำหรับของกลุ่มสินค้าอาหารจะมีค่าสูงกว่าของน้ำประปาเมื่อเปรียบเทียบเล็กน้อยกล่าวคือมีค่าอยู่ที่ประมาณ - 0.7888, - 0.4316, - 0.2641, และ - 0.0880 สำหรับกลุ่มครัวเรือนฐานะยากจน , ฐานะใกล้จน , ฐานะปานกลาง , และฐานะร่ำรวย ตามลำดับ ส่วนค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาของกลุ่มสินค้าไม่ใช่อาหารมีค่าสูงมากในทุกกลุ่มครัวเรือนซึ่งมีค่าอยู่ที่ประมาณ - 0.8900, - 0.8110, - 0.9330, และ - 0.9818 สำหรับกลุ่มครัวเรือนฐานะยากจน , ฐานะใกล้จน , ฐานะปานกลาง , และฐานะร่ำรวย ตามลำดับ ผลของการคำนวณค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์การใช้จ่ายของน้ำประปาและกลุ่มสินค้าอาหารในทุกกลุ่มครัวเรือนมีค่าน้อยกว่า 1 เป็นการยืนยันว่าน้ำประปาและกลุ่มสินค้าอาหารเป็นสินค้าจำเป็นในนัยเดียวกันผลของค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์การใช้จ่ายของกลุ่มสินค้าไม่ใช่อาหารในทุกกลุ่มครัวเรือนมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่ากลุ่มสินค้าไม่ใช่อาหารมีแนวโน้มเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อพิจารณาในด้านของค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาสินค้าอื่น (Cross price elasticity) ของน้ำประปา , กลุ่มสินค้าอาหาร , และกลุ่มสินค้าไม่ใช่อาหารในแต่ละกลุ่มครัวเรือนพบว่าทุกค่ามีค่าเป็นลบซึ่งหมายถึงว่าถ้าหากราคาสินค้าอื่นมีอัตราที่เพิ่มขึ้นจะมีผลให้ปริมาณอุปสงค์ของสินค้าตัวเองมีค่าลดลงเช่นเดียวกับผลในระดับภาพรวมทั้งประเทศ
........จากผลการวิเคราะห์เชิงจำลองชี้ให้เห็นว่านโยบายการตั้งราคาและภาษีน้ำประปาที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาและยังส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำประปาควบคู่กันไปอีกด้วย ในการทดสอบการปฏิรูป กรณีของการใช้ใช้นโยบายการเพิ่มราคาน้ำประปาร่วมกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบอัตราเดียวกับสินค้าปกติทั่วไป (UPI) นั้นสามารถลดอุปสงค์การใช้น้ำประปาโดยรวมของประเทศลงได้ก็จริงแต่ในขณะเดียวกันกลับยิ่งเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำประปามากขึ้น ส่วนกรณีของการใช้การใช้นโยบายการตั้งราคาน้ำประปาตามราคาต้นทุนร่วมกับการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าของน้ำประปาให้สูงกว่าสินค้าปกติทั่วไป (UTI) นั้นให้ผลลัพธ์ในการลดระดับอุปสงค์ได้เหมือนกับกรณี UPI แต่ต่างกันที่ความมั่งคั่งของประชาชนที่ลดลงในกรณี UTI นั้นจะตกอยู่ในรูปของรายได้ทางภาษีของภาครัฐซึ่งภาครัฐสามารถนำกลับคืนสู่ประชาชนในรูปแบบอื่นๆได้ในอนาคต แต่ในกรณี UPI ความมั่งคั่งของประชาชนที่ลดลงส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่ผู้ผลิตน้ำประปาในรูปของผลกำไรส่วนเกินที่เพิ่มขึ้น ในกรณีของการใช้นโยบายการตั้งราคาน้ำประปาตามราคาต้นทุนร่วมกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบต่างอัตราสองระดับ (DNUT) จะสามารถช่วยลดอุปสงค์น้ำประปาในครัวเรือนและความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงน้ำประปาของแต่ละครัวเรือนได้ด้วยแต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังคงขาดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนระดับราคาน้ำประปาให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาเพื่อป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำประปาในระยะยาว ดังนั้นในระยะยาวนโยบายผสมกรณีของการใช้นโยบายการตั้งราคาน้ำประปาแบบดัชนีคลังน้ำกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบอัตราเดียวกับสินค้าปกติทั่วไป (WSIP) จะสามารถช่วยลดอุปสงค์น้ำประปาในครัวเรือนและมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาได้แต่อย่างไรก็ดีวิธีนี้ยังคงมีจุดอ่อนในด้านการไม่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำประปาของแต่ละกลุ่มครัวเรือนที่มีความแตกต่างกัน นโยบายผสมกรณีของการใช้นโยบายการตั้งราคาน้ำประปาแบบดัชนีคลังน้ำร่วมกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบต่างอัตราสองระดับ (WSIP & DNUT) และนโยบายผสมกรณีของการใช้นโยบายการตั้งราคาน้ำประปาแบบดัชนีคลังน้ำต่างระดับร่วมกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบอัตราเดียวกับสินค้าปกติทั่วไป (NUWSIP) มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและสามารถช่วยลดความแตกต่างด้านความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำประปาของแต่ละกลุ่มครัวเรือนที่มีความแตกต่างกันควบคู่กันไปได้ด้วย
ทำอย่างไรเราจึงสามารถจะนำมานนโยบายมาใช้จริงในภาคปฏิบัติได้ ?
........จากผลการศึกษาข้างต้นได้พิสูจน์แล้วว่าหากภาครัฐยังคงใช้นโยบายการตั้งราคาและภาษีน้ำประปาแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในอนาคตได้และจะส่งผลกระทบตามมา 3 ด้านดังนี้คือ ด้านแรกคือผลกระทบด้านสวัสดิการสังคมกล่าวคือเมื่อเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำขึ้นประชาชนในประเทศจะยากลำบากแม้จะมีสิ่งต่างมากมายก็มีความสุขไม่ได้เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์และจะเกิดการล้มตายเนื่องจากการขาดน้ำดื่ม ปัญหาเหล่านี้ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ด้านที่สองคือ ผลกระทบด้านความเป็นธรรมในสังคมกล่าวคือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การขาดแคลนน้ำและเพิ่งจะรัฐเริ่มนำกลไกราคามาใช้ในตอนนั้นโดยมิได้คำนึงถึงความเป็นธรรมในแนวตั้งแล้วละก็ คนที่มีเงินมากหรือร่ำรวยเท่านั้นคือคนที่จะอยู่รอด คนที่ยากจนก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่รอดในสังคมต่อไปได้ ด้านที่สามคือผลกระทบต่อสวัสดิภาพในสังคมกล่าวคือในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงขึ้นและเงินเป็นคำตอบของการแก้ปัญหา กลไกในการเอาตัวรอดของมนุษย์ก็จะเริ่มทำงานหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คืออาชญากรรมในสังคม การลักขโมย ฆ่าชิงทรัพย์ หรือสงครามแย่งชิงน้ำก็จะเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่าน้ำแล้วก็จะไม่มีสวัสดิภาพในสังคม ตราบที่คนรวยยังอยู่ในสังคมแม้มีเงินซื้อน้ำก็จะได้รับผลกระทบเรื่องความปลอดภัยอยู่ดี และคนรวยอาจจะตายเพราะถูกฆ่าชิงทรัพย์ก่อนที่คนจนจะตายเพราะขาดน้ำก็ได้ ผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงบางด้านที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น ยังมีปัญหาข้างเคียงอีกมากที่จะตามมาเป็นลูกโซ่และเกี่ยวพันกันและอาจขยายไปเป็นปัญหาระหว่างประเทศและปัญหาระดับโลกก็ได้ ภาครัฐจึงควรเร่งออกกฎหมายและแก้ไขระบบการจัดการน้ำในประเทศอย่างเร่งด่วนโดยอาจจะใช้นโยบายผสมระหว่างนโยบายการตั้งราคาน้ำประปาแบบดัชนีคลังน้ำร่วมกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบต่างอัตราสองระดับที่ได้นำเสนอในการศึกษาวิจัยนี้ก็ได้ ปัญหาและอุปสรรคในการปรับเปลี่ยนแก้นโยบายน้ำประปาที่ผ่านมาในอดีตอาจเนืองมาจากหลายปัจจัย เช่น การขาดวิสัยทัศน์ , ความไม่เด็ดขาดของผู้นำทางการเมืองในอดีต , การป้องป้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม , การขาดหลักการแก้ปัญหาที่ได้รับการศึกษาวิจัยและพิสูจน์ทางวิชาการที่หนักแน่นเพียง , ความกลัวต่อกระแสสังคม , ความกลัวการเปลี่ยนแปลง , ความต้องการรักษาคะแนนนิยมจากประชาชน รวมทั้งความยุ่งยากในการปรับเปลี่ยนระบบ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามปัญหาทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้แก้ได้หากคนส่วนมีความจริงใจและเสียสละเพื่อผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม การประปาบางส่วนที่เป็นของเอกชนหรือที่จะแปรรูปเป็นบริษัทนั้นจะทำให้ภาครัฐสูญเสียอำนาจการควบคุมราคาน้ำประปาภายในประเทศเพราะบริษัทมีปรัชญาที่มุ่งหมายกำไรสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นไม่ได้มุ่งหมายให้ประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนสูงสุดแต่กระนั้นในปัจจุบันน้ำประปาที่จำหน่ายบางส่วนมีเอกชนเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนแล้วก็ตามภาครัฐพอที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้โดยออกกฎหมายควบคุมเพดานราคาและใช้นโยบายภาษเข้ามาย้ายกำไรจากภาคเอกชนมาสู่ภาครัฐ
........การนำนโยบายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบต่างอัตราสองระดับ (DNUT) และนโยบายการตั้งราคาน้ำประปาแบบดัชนีคลังน้ำ (WSIP) ที่ได้นำเสนอในการศึกษาวิจัยค่อนข้างจะมีปัญหายุ่งยากในทางปฏิบัติซึ่งอาจจะมาจากปัญหาการไม่อยากเสียผลประโยชน์ตัวของกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย รวมไปถึงปัญหาความไม่แม่นยำของระบบฐานข้อมูลรายได้ของประชาชนในประเทศและคำนวณอัตราภาษีของแต่ละครัวเรือนที่แตกต่างกันอย่างเหมาะสมและราคาที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ แต่กระนั้นก็ตามทางที่ดีที่สุดของชัยชนะคือการเริ่มต้นที่จะสู้ ในด้านปัญหาการคัดค้านจากกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยซึ่งเสียผลประโยชน์นั้นแก้ได้ง่ายมากเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบประชาธิปไตยและจากผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยนั้นมีเพียงประมาณร้อยละ 5.9 ของประชาชนทั้งประเทศในขณะที่กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์คือกลุ่มคนที่มีฐานะยากจนและใกล้จนนั้นมีกว่าร้อยละ 65 ของประชาชนทั้งประเทศ หากเพียงคนกลุ่มนี้กลับมาเห็นคุณค่าและตระหนักถึงอำนาจทางประชาธิปไตยที่พวกเขามีและออกมาใช้สิทธิผ่านช่องทางประชาธิปไตยอาทิเช่นเลือกผู้แทนของตนออกไปเป็นรัฐบาลร่างกฎหมายและนโยบายน้ำประปาที่มีประสิทธิภาพขึ้นเท่านั้น ส่วนปัญหาในด้านปัญหาของระบบการรวบรวมข้อมูลรายรับรายจ่ายของประชาชนในประเทศไทยเริ่มจะได้รับการปรับปรุงในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายเข้ามารองรับ ในด้านความยุ่งยากในการคำนวณและจัดเก็บภาษีค่าน้ำประปาที่มีอัตราที่หลากหลายแตกต่างกันก็แทบจะไม่มีหลากเราไม่ลืมว่าใบเสร็จค่าน้ำประปาที่ส่งไปเก็บตามบ้านนั้นค่าน้ำประปารวมภาษีมูลค่าเพิ่มถูกคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์หากเพียงเราโปรแกรมว่าครัวเรือนหรือผู้ใช้คนใดจะถูกจัดเก็บด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราเท่าใดลงในคอมพิวเตอร์ค่าน้ำประปารวมภาษีมูลค่าเพิ่มในใบเสร็จก็จะถูกเปลี่ยนไปในเดือนถัดไปทันที ยังคงเหลือปัญหาอยู่ปัญหาเดียวว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าครัวเรือนใดหรือบุคคลใดควรจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะอะไรและควรถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเท่าไหร่ในทางอุดมคติแล้วควรจัดแบ่งตามความสามารถในการจ่ายซึ่งความสามารถในการจ่ายนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ดูเพียงรายรับเฉลี่ยในแต่ละเดือนเท่านั้นแต่ความสามารถในการจ่ายมาจากความมั่งคั่งที่สะสมเดิมอยู่แล้วด้วยแต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยหรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีประเทศใดเลยที่รู้ข้อมูลรายรับและความมั่งคั่งสะสมของประชาชนทุกคนในประเทศหรือแม้แต่คนเดียวก็ยังยาก โดยความคิดส่วนตัวแล้วปัญหานี้แก้ไม่ยากเกินไปเช่นกัน หากทั้งประเทศปรับมาใช้ระบบการเงินแบบดิจิตอลทั้งประเทศวิธีนี้จะทำให้ภาครัฐมีข้อมูลที่สมบูรณ์และทราบข้อมูลการเคลื่อนไหวของกระแสเงินทั้งประเทศและทราบรายรับรายจ่ายที่แท้จริงของทุกคนในประเทศวิธีนี้คงขึ้นอยู่ที่ว่าประเทศไหนจะกล้าที่จะเปลี่ยนก่อนกัน แต่ถ้าจะพูดทางออกแบบง่ายๆ ใช้ได้ทันทีสำหรับประเทศไทยในปัจจุบันก็สามารถทำได้โดยจัดแบ่งครัวเรือนตามข้อมูลรายได้ประปีที่แจ้งต่อกรมสรรพากรนั่นหมายถึงภาครัฐต้องทำงานเป็นระบบและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพียงเท่านี้นโยบายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบต่างอัตราสองระดับก็สามารถถูกประยุกต์ใช้ได้ทันที ส่วนนโยบายการตั้งราคาน้ำประปาแบบดัชนีคลังน้ำก็เพียงใช้ข้อมูลเชิงลึกที่กระจัดจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐมาคำนวณค่าสัมประสิทธิ์ที่แท้จริงและเหมาะสมในสมการการคำนวณราคาน้ำประปาแบบดัชนีคลังน้ำซึ่งค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมอาจจะต้องเกิดจากการทดลองใช้จริงและปรับปรังแก้ไขตามผลที่ได้รับจริงอีกครั้ง
........ภาษีแบบต่างอัตราสองระดับ (Double Non - Uniform Tax) หรือเขียนแบบย่อว่า DNUT คือการจัดเก็บภาษีสินค้าแต่ละประเภทในอัตราที่แตกต่างกันสองระดับ ความแตกต่างในระดับแรกคือในสินค้าต่างประเภทกันมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันความแตกต่างกัน ความแตกต่างในระดับที่สองคือในสินค้าประเภทเดียวกันมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละครัวเรือนที่มีความแตกต่างกันอีกด้วย
........การตั้งราคาแบบดัชนีคลังน้ำ (Water Stock Index Pricing) หรือเขียนแบบย่อว่า WSIP คือการตั้งราคาน้ำซึ่งมีอัตราที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาโดยที่อัตราราคาน้ำจะแปรผกผันปริมาณน้ำในคลังน้ำของผู้ผลิตและปริมาณการชดเชยน้ำดิบที่คาดการณ์ในอนาคต
........การตั้งราคาแบบดัชนีคลังน้ำต่างอัตรา (Non-Uniform Water Stock Index Pricing) หรือเขียนแบบย่อว่า NUWSIP เป็นวิธีการที่ขยายเพิ่มมาจากการตั้งราคาแบบดัชนีคลังน้ำแบบปกติซึ่งตั้งราคาแบบ NUWSIP มีหลักการเหมือนกับวิธีการตั้งราคาแบบดัชนีคลังน้ำแบบเดิมแต่จะมีความแตกต่างในส่วนของการตั้งราคาน้ำในอัตราที่ไม่เท่ากันสำหรับแต่ละครัวเรือนที่แตกต่างกัน |